เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคายางพาราคือ ความต้องการใช้ (อุปสงค์) และปริมาณผลผลิต (อุปทาน) โดยปริมาณการใช้ยางของโลกจะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ โดยปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ปริมาณการใช้ยางในปี 2554 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางของโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.5 ตามการขยายพื้นที่ปลูกในแหล่งผลิตที่สำคัญ สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อราคายางพารา ได้แก่ (1) การซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อราคายางในตลาดจริง รวมทั้งราคาซื้อขายในประเทศไทย (2) ราคาน้ำมัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57 ของการบริโภคยางของโลก และสามารถใช้ทดแทนยางพาราได้ จากข้อมูลในอดีต ราคายางพารากับราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวไปด้วยกัน ยกเว้นในปี 2553 และ 2554 ที่ราคายางพารามีความผันผวนสูงกว่าราคาน้ำมันมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และการเกิดภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น (3) ปัจจัยอื่นๆ เช่น น้าท่วมใหญ่ในประเทศไทยส่งผลให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่การผลิตโลก กระทบต่อความต้องการใช้ยางโลก เป็นต้น
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ราคายางจะปรับตัวลดลง แต่ยังนับว่าอยู่สูงกว่าต้นทุนการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแสดงต้นทุนการผลิตยางในปี 2554 อยู่ที่กิโลกรัมละ 46.57 บาท และราคายางที่ลดลงยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2545-2554) ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 69.35 บาท ราคายางที่ปรับลดจึงไม่ได้ต่างจริง แต่ราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2554 ได้สร้างความกังวลให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคายางอยู่เหนือระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับค่าครองชีพได้ปรับตัวสูงขึ้น และรัฐบาลได้ออกนโยบายที่อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท การลอยตัวราคาพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางส่วนหนึ่งได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากเงินที่คาดว่าจะได้รับในช่วงที่ยางราคาดี สะท้อนอยู่ในข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่า ครัวเรือนภาคใต้มีหนี้สูงขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวนของราคายางพารา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาที่เหมาะสม และยั่งยืน วิธีการคือ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยจัดสรรให้สถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท องค์การสวนยาง 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรับซื้อยางพาราไปแปรรูป และรอขายในราคาที่เหมาะสมซึ่งช่วยลดผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคาตกต่ำ โครงการนี้ มีระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน (มกราคม 2555-มีนาคม 2556) มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลทางจิตวิทยาทาให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 90 บาท เมื่อต้นปี 2555 เป็นกิโลกรัมละ 110 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ประกอบกับราคาน้ามันยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของรัฐบาล คาดว่าจะได้ผลทางด้านจิตวิทยาในระยะสั้นเท่านั้น โดยราคายางได้ปรับจากกิโลกรัมละ 90 บาท เป็น 110 บาท ส่วนในระยะยาวจากการคาดการณ์ของ IRSG ผลผลิตยางพาราในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 4.96 ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.94 ทำให้ ณ สิ้นปี 2559 จะมีผลผลิตยางจานวน 13,970 พันตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 (ผลผลิต 11,322 พันตัน) จานวน 2,648 พันตัน ส่วนความต้องการใช้มีจำนวน 13,880 พันตัน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2555 (ความต้องการใช้ 11,291 พันตัน) จำนวน 2,589 พันตัน อนาคตยางพาราจึงไม่น่าเป็นห่วง อาจจะผันผวนในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ปริมาณผลผลิต และความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยท้าทายอื่นๆ เช่น การใช้ยางสังเคราะห์ทดแทนก็มีข้อจากัดทางเทคนิค การขยายพื้นที่ปลูกในประเทศจีนก็ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ที่ต้องมีภูมิอากาศที่เหมาะสม นอกจากนี้ การลงทุนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมัน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้ายางพารา ในระยะยาวทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องกระตุ้นการบริโภคยางภายในประเทศ เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และที่สำคัญ ต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแทนที่จะส่งออกในรูปวัตถุดิบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา