สภาพการทำสวนยางพาราของไทย การปลูกยางพาราในช่วงแรกๆ นั้น (พ.ศ. 2443 - 2503) เป็นพันธุ์พื้นเมือง ปลูกร่วมกับไม้ผลและพืชผักอื่นๆ ในบริเวณเชิงเขาและที่ราบเชิงเขา ซึ่งเรียกว่า “ป่ายาง” โดยเมล็ดพันธุ์จะนำมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้น เป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และทำการปลูกทดแทนพันธุ์พื้นเมืองเดิมไปมาก ประเทศไทยจึงมีความพยายามพัฒนาการทำสวนยางพาราให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทำสวนยางพารา เพื่อดำเนินการวิจัย ส่งเสริม และพัฒนา ทำให้พื้นที่ปลูกยางพาราขยายตัวอย่างต่อเนื่องจาก 7 ล้านไร่ ในปี 2503 เป็น 10 ล้านไร่ ในปี 2529 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยพื้นที่บางส่วนได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพันธุ์ดีแทนยางพาราพันธุ์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยสงเคราะห์ให้เกษตรกรไร่ละ 6,800 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 ปี
พื้นที่การปลูกยางพารา พื้นที่ปลูกยางพาราของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 10.8 ล้านไร่ ในปี 2531 เป็น 11.5 ล้านไร่ ในปี 2541 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.6 ต่อปี โดยพื้นที่การปลูกยางพาราประมาณร้อยละ 85 อยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งในปี 2541 จังหวัด สุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด จำนวน 1,772,324 ไร่ รองลงมาคือจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวน 1,631,058 ไร่ และ 1,289,047 ไร่ ตามลำดับ
ผลผลิตยางพารา ผลผลิตยางพาราเพิ่มสูงขึ้นตลอดจาก 1.15 ล้านตัน ในปี 2531 เป็น 2.16 ล้านตันในปี 2541 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.50 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต ซึ่งเพิ่มจาก 9.24 ล้านไร่ ในปี 2531 เป็น 9.54 ล้านไร่ ในปี 2541 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.32 ต่อปี ประการที่สอง เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 136 กก./ไร่ ในปี 2531 เป็น 225 กก./ไร่ ในปี 2541 ผลผลิตยางพารา ปี 2541 ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งประเทศ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 368,667 ตัน รองลงมาคือ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา จำนวน 278,674 ตัน และ 267,180 ตัน ตามลำดับ