จีนมีความต้องการยางธรรมชาติเป็นจำนวนมากในการผลิตยางล้อที่มีทั้ง ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถจักรยาน และยางรถยนต์ ส่วนผลิตภัณฑ์ยางมียางรัดของ ท่อยาง รองเท้ายาง และยางรัดกางเกงหรือชุดชั้นใน ซึ่งการผลิตผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดต้องการวัตถุดิบต่างกัน คือ
- ยางแท่งและยางแผ่น ใช้ในการผลิตยางล้อ เป็นส่วนประกอบใน mold เพื่อผลิตส่วนประกอบรถยนต์ และ consumer product เช่น ขอบประตู หน้าต่าง ยางรองคอสะพาน เป็นต้น
- น้ำยางข้น ใช้ในการผลิต ถุงมือยาง พื้นรองเท้า หมอน ฟูก กาว เป็นต้น
การใช้ยางธรรมชาติเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดของจีนนั้นแบ่งได้เป็น 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดเพื่อใช้ในการทำท่อยาง และตลาดเพื่อใช้ในการทำยางล้อ โดยสามารถแบ่งได้เป็นยางล้อจำนวนร้อยละ 60 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นยางอื่นๆ เช่น ท่อยาง เทปยาง สายยางปะเก็นน้ำมัน และยางแท่นกันสะเทือน เป็นต้น
การใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมท่อยาง เมื่อเทียบระหว่างตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดเพื่อทำท่อยางจะพบว่า ตลาดยางธรรมชาติเพื่อใช้ในการทำท่อยางมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยในปี 2543 จีนมีความต้องการใช้ท่อยางจำนวน 170 ล้านเมตร และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้ท่อยาง 178 ล้านเมตรในปี 2545 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 ต่อปี ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมท่อยางของจีนในปัจจุบันจะเน้นการพัฒนาท่อยางเจาะน้ำมันที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ ท่อยางแรงดันสูง และท่อยางที่ใช้ในรถยนต์
การใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อในจีน จีนมีความต้องการยางธรรมชาติเป็นจำนวนมากในการผลิตยางล้อที่ประกอบด้วย ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถจักรยาน และยางรถยนต์ โดยยางรถยนต์แยกเป็นยางรถบรรทุก ยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยางรถที่ใช้ในการเกษตร และยางล้อเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันจีนสามารถผลิตยางยานพาหนะได้มากกว่า 1,200 ชนิด โดยมีมาตรฐานถึง 8,500 มาตรฐาน ซึ่งมณฑลที่มีการผลิตยางล้อมากที่สุดในปี 2538 อยู่ที่ Shandong คิดเป็นร้อยละ 45.2 ของการผลิตยางล้อทั้งประเทศ รองลงมา คือ มณฑลกวางตุ้งร้อยละ 15.8 เซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 13.4 ฟูเจียนร้อยละ 13.1 เจียงซู ร้อยละ 10.6 ยูนนานร้อยละ 1.5 และไหหลำร้อยละ 0.4 ในปี 2539 จีนมีโรงงานผลิตยางล้อรถประมาณ 300 โรง และใช้ยางในการผลิตยางล้อจำนวนทั้งสิ้น 957,000 ตัน ปี 2543 มีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากปี 2539 ปีละ 6% โดยเป็นการผลิตยางล้อทั้งสิ้น 60.6 ล้านเส้นในปี 2539 ในขณะที่ปี 2540 ผลิตได้ 69 ล้านเส้น ปี 2543 ผลิตได้ 80 ล้านเส้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นยางแต่ละประเภท ดังนี้
จีนผลิตยางรถจักรยานได้ 16 ล้านเส้นในปี 2539 โดย ปี 2543 ผลิตได้ 45 ล้านเส้น ในขณะที่ในปี 2539 ผลิตยางรถจักรยานยนต์ได้ 120 ล้านเส้น และเพิ่มเป็น 220 ล้านเส้นในปี 2543 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8 % ในด้านของยางเรเดียล ปี 2539 จีนผลิตได้ 9.9 ล้านเส้นหรือคิดเป็น ร้อยละ 15 ของการผลิตยางล้อทั้งหมด โดยในปี 2540 เพิ่มเป็น 12.8 ล้านเส้น และในปี 2543สัดส่วนการผลิตยางเรเดียลจะเพิ่มขึ้นเป็น
ร้อยละ 35 ซึ่งถือว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะการขยายตัวของการลงทุนจากบริษัทผลิตยางเรเดียลของจีนเองและจากต่างประเทศ เช่น บริดจสโตน มิชลิน และกู๊ดเยียร์ ในปี 2543 -2544 จำนวนรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านคัน โดยเป็นรถโดยสาร 1.25-1.28 ล้านคัน โดยเป็นการใช้ยางรถโดยสารเพิ่มขึ้น 60.3 ล้านเส้น และยางเรเดียล 40 ล้านเส้น และจากสถิติของ International Rubber Study Group ดังตารางที่ 20 พบว่าจีนมีการผลิตยางรถยนต์ซึ่งรวมทั้งรถส่วนตัวและรถบรรทุกจำนวน 121.60 ล้านเส้นในปี 2543 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2544 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 ด้วย และในปี 2544 มีการประมาณการว่าจะมีการผลิตล้อยางไม่ต่ำกว่า 135 ล้านเส้น
ในการผลิตยางล้อนั้นในอดีตนิยมใช้ยางแผ่นในการผลิต โดยยางแผ่นที่ใช้เป็นยางแผ่นคุณภาพต่ำ(ยางแผ่นเกรด 3 ซึ่งเป็นยางแผ่นเกรดที่ไทยสามารถผลิตได้มากที่สุด) แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้ยางแท่งในการผลิตยางรถยนต์มากขึ้น เนื่องจาก โรงงานผลิตยางรถยนต์สมัยใหม่สามารถใช้ทั้งยางแท่งและยางแผ่นรมควันเป็นวัตถุดิบ ต่างจากเทคโนโลยีสมัยเก่าที่เน้นการใช้ยางแผ่นรมควันมากกว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมล้อยางนี้ขึ้นอยู่กับ 2 องค์ประกอบหลักคือ นโยบายทางด้านคมนาคมของจีนทีเกี่ยวกับการสร้างถนนเชื่อมโยงโดยเฉพาะระหว่างเมืองและมณฑลต่าง ๆ และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อให้เป็นพาหนะของประชาชนที่มีอำนาจในการซื้อ
เรียบเรียงโดย : เครื่องรีดยาง