ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจ สถาบัน และสมาคมธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ 257 ราย ในช่วงไตรมาส 3/55 เกี่ยวกับแนวโน้ม ภาคธุรกิจในไตรมาส 4/55 พบว่า ผู้ประกอบการยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เน้นแรงงานเป็นหลักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะมีอีกหลายรายอาจต้องทยอยย้ายฐานการผลิตในอนาคต โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าในไตรมาส 4 นี้ตลาดแรงงานยังตึงตัวต่อเนื่อง และหลังจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ จะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงมีอยู่และอาจรุนแรงขึ้นในต้นปีหน้า เพราะแรงงานจะกลับคืนภูมิลำเนาเดิมมากขึ้น ภาคธุรกิจจะหาแรงงานยากขึ้นจนอาจทำให้บางธุรกิจที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานได้ เช่น ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้า อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น แต่ระยะยาวผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าแรงงานจะย้ายกลับมาใช้พื้นที่อุตสาหกรรมตามเดิม เพราะไม่มีอุตสาหกรรมรองรับในภูมิลำเนา
อย่างไรก็ตาม
ได้มีการประเมินว่านโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศในต้นปี 2556 จะไม่ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานในวงกว้าง
เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ขาดแคลนแรงงานและจ่ายค่าแรงสูงกว่าอยู่แล้ว
แต่ทั้งนี้ธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น
เพื่อบริหารจัดการกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น
เรียบเรียงข่าวโดย : เครื่องรีดยาง